ฉีดสิวดีไหม? อันตรายไหม? เป็นหลุมไหม? ปลอดภัยไหม? รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสิวอักเสบ และการฉีดสิว

01/07/2021 by dw_admin

ฉีดสิวดีไหม? อันตรายไหม? เป็นหลุมไหม? ปลอดภัยไหม? รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสิวอักเสบ

บทความเชิงวิชาการในรูปแบบ คำถาม-คำตอบ ที่พบเจอได้บ่อย เกี่ยวกับสิวอักเสบ

 

 

ฉีดสิวแล้ว เป็นวิธีหลุม?
  • ไม่เป็นหลุม (ถ้าทำตามหลักการแพทย์)  แต่ถ้าปล่อยสิวอักเสบนานๆ มีโอกาสเป็นหลุมสิวได้ และยิ่งอักเสบนานขึ้นเท่าไหร่ อัตราการเกิดหลุมจะสูงขึ้นเรื่อยๆ

 


 

มีไหมที่ฉีดแล้วเป็นหลุม?
  • มี
    1. ไม่ได้ใช้ปริมาณยาในความเข้มข้นที่เหมาะสม และไม่ได้มาตรฐานทางการแพทย์
    2. ไม่ได้ฉีดเข้าเม็ดสิว  เช่น ปลายเข็มทะลุออกไปเข้าชั้นไขมันแทน  ทำให้ตัวยาไปออกฤทธิ์ที่ชั้นไขมันแทน และมีการฉีดปริมาณยามากกว่าปกติของการฉีดสิว 1 เม็ด

 


ยากไหมที่ฉีดยาเข้าเม็ดสิว?
  • ไม่ยาก สิวอักเสบยิ่งเม็ดใหญ่ ยิ่งฉีดง่าย สิวอักเสบเม็ดเล็กลงจะฉีดยากขึ้น  ความยาก-ง่าย เปรียบเทียบเหมือนขับรถให้อยู่ในเลนถนน
  • หากเป็นผู้ชำนาญ โอกาสขับรถตกถนนเกิดขึ้นได้ยาก สำหรับแพทย์ที่ยังไม่ชำนาญโดยปกติ แพทย์จะเลือกฉีดสิวอักเสบเม็ดใหญ่อยู่แล้ว

 


 

หากไม่ชำนาญ ฉีดสิว แล้วยาออกไปนอกเม็ดสิวจะเกิดอะไรขึ้น?
  • มีโอกาสเกิดการยุบตัวของชั้นไขมันขึ้นได้ ซึ่งแปลผลว่าเกิดหลุมสิวจากการฉีดสิวได้
  • แต่โดยปกติ หากตัวยาถูกเตรียมไว้ด้วยความเข้มข้นที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว โอกาสเกิดหลุมจากชั้นไขมันยุบตัวนั้น ก็ยังมีโอกาสเกิดน้อยมากอยู่ดี
    เนื่องจาก หากเป็นแพทย์ที่ชำนาญแล้วโอกาสที่ตัวจะฉีดยาไปนอกเม็ดสิวจะเกิดยากแล้ว หากเกิดจริงปริมาณยาที่ฉีดออกไปนอกเม็ดสิวนั้น มักจะไม่มากมายพอ จนทำให้เกิดไขมันยุบตัวได้อยู่ดี
    เพราะการฉีดสิวแต่ละเม็ดนั้น ปริมาณยาที่ใช้จะใช้ไม่มากนัก เหมือนหยดน้ำ 1-2 หยด ต่อสิว 1 เม็ด ซึ่งปริมาณเท่านี้ไม่เพียงพอต่อการยุบตัวของชั้นไขมัน
    ( การยุบตัวของชั้นไขมันจะเกิดได้ ต้องเกิดจากตัวยาฉีดสิวที่เข้มข้นสูงและมีปริมาณมากพอ)
  • แต่หากเกิดจริง หลุมประเภทนี้จะต่างจากหลุมสิวที่เกิดจากสิวอักเสบ กลุ่มนี้จะฟื้นตัวขึ้นมาเองได้ประมาณ 2-3 เดือน

 


 

หลุมสิวที่เกิดจากสิวอักเสบจริงๆ กับหลุมสิวที่เกิดจากการฉีดสิวผิดพลาดต่างกันอย่างไร ?
  • หลุมสิวจากสิวอักเสบจริงๆ เกิดจากการหายไปของเนื้อผิว (dermis)   หลังระยะการซ๋อมแซมผิว (remodeling phase) แล้ว หากยังเหลืออยู่ จะการเป็นหลุมถาวร (ปัจจุบันรักษาได้)
  • หลุมสิวจากการฉีดสิวผิด เกิดจากชั้นไขมันยุบตัว  มีโอกาสหายเองได้ (ถ้าผสมยาถูกต้องตามหลักการแพทย์) เพราะผนึกยาจะมีโอกาสสลายเองได้ แต่ถ้าพบเจอไว มีโอกาสรักษาหายได้ในเวลารวดเร็ว ด้วยวิธีง่ายๆทางการแพทย์ ค่าใช้จ่ายต่ำ

 


ทำไมเมื่อมีสิวอักเสบจึงมีโอกาสเป็นหลุมสิว ถ้าปล่อยไว้นานๆ?
  • เพราะการอักเสบที่เกิดขึ้น หรือหนองจากสิว จะทำลายเนื้อผิวในบริเวณนั้น ร่วมกับขัดขวางขบวนการสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่
  • เปรียบเทียบให้เห็นภาพ  คนไข้คนที่1 ยิงไฝขนาด 0.5 ซม หลังยิงมีหลุมของตัวไฝ , คนไข้คนที่สอง ชอบบีบสิวจนอักเสบขนาด 0.5 ซม ใครมีโอกาสเป็นหลุมมากกว่ากัน?
    • คำตอบ คือคนไข้คนที่ 2 ที่เป็นสิวมีโอกาสเป็นหลุมมากกว่า เพราะคนไข้คนที่ 1 ที่ยิงไฝ ถือเป็นแผลสะอาด ไม่มีหนอง หรือการอักเสบขวางการสร้างคอลลาเจน ถึงแม้หลังทำจะเกิดหลุมเลเซอร์ขึ้นมา แต่ร่างกายจะสร้างคอลลาเจนทดแทนได้ดีกว่า ดังนั้น การยิงไฝ ขี้แมลงวัน หากขนาดไม่ใหญ่เกินไป จะมีโอกาสเป็นหลุมหลังยิงเลเซอร์น้อยมาก
    • ส่วนคนที่เป็นสิวอักเสบหากมีการรบกวนสิวตลอด ทำให้เกิดการอักเสบซ้ำๆ ทำลายเนื้อผิวซ้ำๆ หายช้าเกินไป มีการขัดขวางขบวนการสร้างคอลลาเจนตามปกติ ทำให้มีโอกาสเกิดหลุมสิวตามมานั้นเอง

 


 

ถ้าหนองที่สิวไม่ดี เป็นสาเหตุให้เกิดหลุมสิว สามารถเอาออกมาเลยได้ไหม?
  • ถ้าออกได้ก็ดี แต่ปกติสิวอักเสบที่เม็ดใหญ่ ฐานของก้อนจะอยู่ลึกในชั้นหนังแท้ (dermis) ถ้ายังไม่มีจุดเชื่อม(tract) กับชั้นหนังกำพร้าที่ชัดเจน จะยังไม่สามารถเอาออกได้ง่าย

 


 

สิวอักเสบที่หนองเม็ดใหญ่ ถ้าอยู่ลึกมาก ผ่าออกเลยได้ไหม?
  • ผ่าได้ แต่มีโอกาสแผลเป็นชนิดบุ๋ม (dimple scar)  เพราะแนวแผลที่ใหญ่เกินไป ตัวหนองจะขวางการสร้างคอลลาเจนตามแนวรอยมีดผ่าตัดนั้นเอง  ดังนั้น ไม่ควรทำ

 


 

แล้วสิวอักเสบเม็ดใหญ่ จะรักษายังไง?
  • ทานยาปฏิชีวนะ , ทายากลุ่มลดการอักเสบ, ฉีดสิวเพื่อลดการอักเสบที่รุนแรง
  • เมื่อสิวอักเสบดีขึ้นจากการรักษา ร่างกายจะมีขบวนการช่วยกำจัดหนอง ทำให้เม็ดสิวอักเสบเม็ดใหญ่มีขนาดเล็กลง จะมีการยกตัวขึ้นจากชั้นหนังแท้ (dermis) เชื่อมเข้ากับชั้นหนังกำพร้า (epidermis) เกิด tract เล็กๆขึ้น  แพทย์จะใช้ปลายเข็มฉีดยา หรือบางท่านใช้เลเซอร์บางชนิด เจาะรูเล็กๆขึ้นมา เพื่อเอาหนองออก
  • การทำแบบนี้จะไม่เกิดรอยแผลเป็น เนื่องจากรอยเข็มฉีดยาเล็กมาก เหมือนการโดนฉีดยาตามปกติ

 


กลัวเจ็บหรือกังลกับการฉีดสิว ฉีดสิวจำเป็นไหม ไม่ฉีดได้ไหม?
  • ไม่จำเป็นต้องฉีดสิว หากไม่ใช้สิวประเภทสิวหัวช้าง  รักษาสิวอักเสบตามปกติ เช่น รับประทานยา ยาทา  และให้ดูแลเป็นภาพรวมรวมทั้งการป้องกันการเกิดสิวอุดตันใหม่ การป้องกันการเกิดการอักเสบใหม่ และปรับพฤติกรรมการรบกวนสิวให้ได้  รวมถึงยอมรับระยะเวลาสิวอักเสบที่หายช้ากว่าให้ได้
    เมื่อเทียบกับการฉีดสิว  เนื่องจากการฉีดสิวจะทำให้การอักเสบของสิวลดลงได้เร็วกว่ามาก ทำให้การยุบตัวของสิวอักเสบเกิดได้เร็วกว่าและมากกว่า
  • จำเป็น หรือควรฉีดสิว ในกรณีสิวที่มีการอักเสบรุนแรงมาก เป็นสิวหัวช้าง หรือเป็นฝีหนอง หากไม่ฉีดจะหายช้ามากๆ ซึ่งไม่น่าจะทันเรื่องของการป้องการการเกิดหลุมสิว

 


 

มีคนยืนยันจริงๆว่า เคยฉีดสิว แล้วหลังฉีดเป็นหลุมจริงๆ โดยฉีดกับแพทย์ที่ชำนาญแล้ว เก่งแล้ว
  • น่าจะเกิดในกลุ่มสิวอักเสบที่รุนแรง เช่น สิวหัวช้าง สิวที่เกิดฝีหนอง
  • เพราะสิวกลุ่มพวกนี้ มีโอกาสเกิดหลุมสิวไปแล้วสูง ยิ่งหายช้า จะเป็นเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไม่ได้รักษาจะเป็นมากขึ้น
  • เป็นคำตอบในบางกรณีที่เมื่อสิวกลุ่มนี้หาย +เคยฉีดสิว คนไข้บางคนเข้าใจว่าหลุมสิวที่เหลือนั้นมาจากการฉีดสิว ความจริงก็คือ ถ้าไม่ฉีดสิวน่าจะมีหลุมสิวหนักกว่านี้

 


 

เป็นไปได้ไหมที่ฉีดสิวหัวช้าง แล้วฉีดยาไม่เข้าเม็ดสิว จึงทำให้เกิดหลุมสิวแทน?
  • เป็นไปได้ยากมาก  เพราะสิวหัวช้างจะมีขนาดเม็ดที่ใหญ่กว่าปกติมากอยู่แล้ว การฉีดยาให้ออกนอกเม็ดสิวหัวช้างน่าจะยากกว่าการฉีดเข้าเม็ดสิวมาก  เปรียบเทียบเหมือนขับรถไม่ให้ตกเลนถนนเอเซีย 3 เลน  ถึงแม้จะเป็นผู้เริ่มต้นก็ตาม ก็เกิดขึ้นได้ยาก ยิ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเทียบจะเป็นไปไม่ได้

 


เลเซอร์ดีกว่าการฉีดสิวไหม?
  • เหมือนถามว่า รถยนต์ดีกว่ามือถือไหม? เพราะมันดีคนละแบบ แต่เอามาแทนกันไม่ได้
  • ฉีดสิวใช้รักษาสิวอักเสบ
  • เลเซอร์ขึ้นอยู่กับแต่ละเครื่อง  ว่าเครื่องผลิตมาเพื่อวัตถุประสงค์หลักอะไร เช่น รักษารอยดำ รักษารอยแดง หน้าใส กำจัดขน กระตุ้นคอลลาเจน  เป็นต้น  โดยเลเซอร์จะมีวัตถุประสงค์รองด้วยเสมอ เช่น เลเซอร์รักษากำจัดขน (วัตถุุประสงค์หลัก) แต่สามารถช่วยทำให้ผิวหน้าเนียนใสขึ้นได้ (วัตถุประสงค์รอง) ขึ้นกับการตั้งค่าการทำงานของเครื่องเลเซอร์นั้นๆ

 


 

เคยมีบางคนบอกว่า อย่าฉีดสิวเพราะจะเกิดหลุมสิว ให้ทำเลเซอร์ดีกว่าเพื่อป้องกันหลุมสิว เพราะเลเซอร์กระตุ้นคอลลาเจนป้องกันหลุมสิวได้ และรักษาสิวอักเสบได้ดีกว่าด้วย?
  • กรณีสิวอักเสบหัวช้าง อักเสบรุนแรง
    • หากกลัวเป็นหลุมสิว แนะนำให้ฉีดสิว และสามารถเลือกทำเลเซอร์ควบคู่ไปด้วยได้เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด
    • ไม่ฉีดสิวอักเสบกลุ่มสิวรุนแรงนี้ แล้วไปทำเลเซอร์เพียงอย่างเดียว มีโอกาสเกิดหลุมสิวมากกว่า เพราะระยะเวลาการหายจะใช้เวลานานกว่า
    • เลเซอร์ช่วยกระตุ้นคอลลาเจนได้จริง ช่วยป้องกันหลุมสิวได้จริง รักษาสิวอักเสบได้จริง แต่ไม่ได้ดีไปกว่าการฉีดสิว เพื่อรักษาสิวอักเสบ
    • ยกตย. เปรียบเทียบ  เหมือนคนหิวน้ำ ไม่ไปดื่มน้ำ แต่ไปซื้อปลาแซลมอลมาทานแทน เพราะได้ยินมาว่ามีงานวิจัยบอกว่า”ปลาแซลมอลสามารถเพิ่มระดับน้ำในร่างกายได้ดี” แต่ความเป็นจริง เมื่อต้องการน้ำก็ให้ดื่มน้ำ ส่วนจะทานปลาแซลมอลเพิ่มเสริมด้วยหรือไม่ แล้วแต่ความสมัครใจ
  • กรณีสิวอักเสบเม็ดเล็ก
    • ไม่จำเป็นต้องฉีดสิว เนื่องจาก ทายาลดการอักเสบ หรือทานยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการปรับลดพฤติกรรมการรบกวนหน้า ก็สามารถหายได้ในเวลาไม่นาน
    • ไม่จำเป็นต้องทำเลเซอร์เช่นกัน แต่สามารถเลือกทำเลเซอร์ควบคู่การรักษาได้ เช่น ช่วยปรับรอยดำ รอยแดง จากสิว เร่งกระตุ้นคอลลาเจนเพื่อป้องกันหลุมสิว เป็นต้น

 


ฉีดสิวแล้วไม่ยุบ, ฉีดสิวไป 3-4 ครั้งแล้วทำไมไม่หาย, ฉีดสิวแล้วทำให้เป็นสิวเรื้อรังได้ไหม?
  • ยาฉีดสิวจะลดการอักเสบให้สิวได้แค่ประมาณ 1-2 วัน เท่านั้น  เหมือนทานพารา 1 เม็ด ก็ไม่สามารถลดปวด ลดไข้ ไปได้ทั้งอาทิตย์
  • หากสิวมีขนาดใหญ่มาก ปกติเมื่อลดการอักเสบได้ ขนาดสิวจะเล็กลงแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องหายหมด เนื่องจากต้องรอให้ร่างกายค่อยๆใช้ขบวนการกำจัดหนองสิวร่วมด้วย
    เมื่อฉีดสิวแล้ว แนะนำให้ใช้ประโยชน์จากการฉีดสิวให้เติมที่ คือ พยายามไม่รบกวนสิว สิวก็จะมีขนาดที่เล็กลงต่อเนื่อง และจะตอบสนองกับการรักษาอื่นๆได้ดีขึ้นด้วย
  • หากมีการรบกวนสิวขึ้นมาใหม่ สิวอักเสบที่พึ่งฉีดสิวไปสามารถอักเสบขี้นมาใหม่ได้  มีขนาดใหญ่กว่าเดิมก็ได้ ขึ้นอยู่กับการรบกวนว่ามากน้อยแค่ไหน

 


 

ฉีดสิวแล้วทำให้เกิดไตแข็งๆขึ้นมาแทน?
  • ผิด
    1. เพราะเป็นไตแข็งๆอยู่ก่อนแล้ว เลยมาฉีดสิว เนื่องจากเป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรง (cystic acne)  เมื่อฉีดแล้วสิวไม่จำเป็นต้องยุบหมด จึงมีไตแข็งๆเหลืออยู่ บางกรณีถ้ายังติดรบกวนสิว จะทำให้มีขนาดไตใหญ่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมก็ได้
    2. กรณีสิวหายแล้ว กลายเป็นไตแข็งๆตามมาทีหลัง ก็คือ hypertrophic scar หรือ อาจจะเป็น keloid scar นั้นเอง ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุจากการฉีดสิวแต่อย่างใด แต่เกิดจากการปล่อยให้สิวอักเสบยาวนานมากเกินไป ตำแหน่งที่ควรระวัง เนื่องจากเกิดได้บ่อย
      ก็คือ บริเวณใต้คาง คอ  ดังนั้น หากมีสิวเม็ดใหญ่บริเวณนี้ แนะนำให้รักษา ถ้าเกิดสิวอักเสบเม็ดใหญ่ แนะนำให้ฉีดสิว ให้หายไวที่สุด ก็จะลดอัตราการเกิด hypertrophic scar ในบริเวณนี้ได้  เมื่อสิ้นสุดการรักษา hypertrophic scar ที่ยังเกิดขึ้น มีอยู่
      ก็ไม่ได้เกิดจากการฉีดสิว แต่ถ้าไม่ได้ฉีดสิวคงจะมีมากกว่านี้

 


 

แล้ว hypertrophic scar หรือ keloid scar เกิดจากอะไร ?
  • พบในคนไข้ที่มีสิวอักเสบรุนแรง เรื้อร้ง และใช้เวลาในการรักษานานมากเกินไป
  • จนร่ายกายไม่สามารถใช้ขบวนการกำจัดหนองสิวได้ตามปกติ
  • ร่างกายเลือกสร้างคอลลาเจนชนิดที่เส้นใยหนาเป็นพิเศษ แทนคอลลาเจนขนาดปกติ กลายเป็นไตเนื้อเยื่อแข็งๆขึ้นมาแทนซึ่งก็คือ hypertrophic scar หรือ อาจจะเป็น keloid scar ก็ได้
  • พบได้บ่อยบริเวณคาง หรือใต้คาง
  • การฉีดสิวเป็นตัวเลือกที่ดีและจำเป็นมากในระยะเวลาแรกๆของการรักษา ร่วมกับการควบคุมการรบกวนใบหน้า  แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุการเกิด hypertrophic scar หรือ keloid แต่อย่างใด
    ตรงกันข้าม การฉีดสิวได้ช่วยให้เกิดปัญหาน้อยลงแล้ว

 


 

การฉีดสิวทำให้เป็นสิวได้ง่ายขึ้นไหม?
  • สิวมีสาเหตุการเกิดหลากหลายสาเหตุ มากน้อยต่างกัน แต่ไม่มีสาเหตุการเกิดสิวใดๆ มาจากการฉีดสิว
  • แม้การกระทั้งสิวสเตียรอยด์นั้นก็ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการฉีดสิวแต่อย่างใด

 


สิวสเตียรอยด์เกิดจากการฉีดสิวได้ไหม?
  • สิวสเตียรอยด์เกิดจากการใช้ครีมผสมสารสเตียรอย์ด หรือทายาสเตียรอยด์ความเข้มข้นสูงโดยตรง บริเวณใบหน้าติดต่อกันนานหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน
  • การฉีดสิวไม่ทำให้เกิดสิวสเตียรอย์ด เนื่องจาก
    • การฉีดสิวจะผสมยาเจือจางมาก และเมื่อฉีดเข้าเม็ดสิวโดยตรง สิวอักเสบซึ่งมีลักษณะเป็นถุง (sac) หนองอักเสบ จะมีจุดเชื่อมต่อกับรูขุมขนเสมอ (folliculopilosebaceous unit)
      จะถูกจำกัดปริมาณยาที่ฉีดให้พอดี ไม่มากเกินไปโดยปริยาย เพราะยาฉีดสิวจะถูกดันตัวอยู่ในถุงหนองอักเสบ (sac) หรือ พุ่งออกมาทางรูขุมขน ซึ่งเป็นทางออกที่เชื่อมกับ sac นั้นเอง
    • การฉีดสิวเป็นการออกฤทธิ์เฉพาะจุด ได้แค่ตำแหน่งที่ฉีดเท่านั้น เช่น มีสิวอักเสบ 10 จุด ก็ต้องฉีดสิวอักเสบ 10 จุด ไม่สามารถออกฤทธิ์เป็นวงกว้างได้ แม้เม็ดสิวอักเสบ 2 เม็ดที่อยู่ติดๆกัน
      ถ้าต้องการฉีดสิวก็ต้องฉีดทั้ง 2 เม็ด

 


สรุป การฉีดสิวเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการรักษาสิวเท่านั้น ถึงแม้จะไม่อันตรายหากทำตามเงื่อนไขได้ถูกต้อง แต่ก็ไม่สามารถใช้การฉีดสิวเพื่อรักษาสิวได้ทั้งหมด
การรักษาสิวต้องทำเป็นภาพรวมทั้งหมด ทั้งหาสาเหตุการเกิดสิว การรักษาสิวอุดตัน รักษาสิวอักเสบ รักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ รวมถึงการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของสิว และการดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธีหลังจากสิวหายแล้วด้วย

 

บทความโดย

นพ.วรฤทธิ์ เอกวัฒนกุล และ พญ.ดีเพ็ญ ลิมปโอวาท

ประกอบด้วยแพทย์จบการศึกษา

  • Board of Anatomical pathology, Faculty of medicine, Ramathibodi Hospital, Mahidol University
  • Master of Science in Dermatology, Faculty of medicine, Srinakharinwirot University
    (ตจวิทยา:ผิวหนัง,M.Sc.in Dermatology)

ดีเพ็ญ-วรฤทธิ์ คลินิก จ.อยุธยา

แพทย์ชัยนาท คลินิก จ.ชัยนาท

Logo_white_Footer

“จะดีกว่าไหม? หากมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญคอยดูแล ทั้งเรื่องผิวพรรณ ความงาม สุขภาพผิว
โรคผิวหนัง และปัญหาเส้นผม ด้วยความเอาใจใส่”